สุนทรียภาพแห่งดนตรี เพื่อชีวีเป็นสุข      ดนตรีไทยคือมรดกทางวัฒนธรรมที่สะท้อนความงดงามและเอกลักษณ์ของชาติไทยผ่านเสียงเพลงและเครื่องดนตรีประจำถิ่น.

กลุ่มวัฒนธรรมโคราช

เพลงโคราช
ภาพจาก : https://www.nectec.or.th/schoolnet/library/create-web/10000/arts/10000-12307.html

           เดิมที่นั้นเพลงพื้นบ้านของโคราชมีมากมายหลายชนิด เช่น เพลงกล่อมลูก เพลงกลองยาว เพลงเซิ้งบั้งไฟ เพลงแห่นางแมว เพลงปี่แก้ว (ปี่ซอ) เพลงลากไม้ และเพลงเชิดต่าง ๆ ในยามสงกรานต์ ท่านขุนสุบงกชศึกษากร สันนิษฐานว่า เพลงโคราชเลียนแบบมาจากเพลงฉ่อยของภาคกลาง แต่ใช้คำโคราชบ้าง คำไทยภาคกลางบ้าง ประกอบเป็นเพลงและใช้สำเนียงโคราชจึงเรียกว่า เพลงโคราช

           เพลงโคราชดั้งเดิมเรียกว่า เพลงก้อม จากเพลงก้อมก็พัฒนาเป็นเพลงเอ่ย ( เพลงรำหรือเพลงโรงก็เรียก ) เพลงคู่สี่ เพลงคู่หก เพลงคู่แปด เพลงคู่สิบ และเพลงคู๋สิบสองตามลำดับ แต่เพลงโคราชที่นิยมขับร้องกันในปัจจุบัน ส่วนมากเป็นเพลงคู่แปด แต่ท่านขุนสุบงกชศึกษากรเขียนเอาไว้ว่า เพลงโคราชแบ่งเป็น 5 ปรเภท คือ เพลงขัดอัน เพลงก้อม เพลงหลัก เพลงจังหวะรำ เพลงสมัยปัจจุบัน

 

โอกาสในการแสดง

           เพลงโคราชใช้แสดงในงานบุญต่าง ๆ แทบทุกชนิด เช่น งานตัดผมไฟ งานโกนจุก งานบวชนาค งานขึ้นบ้านใหม่ งานทอดกฐิน งานทอดผ้าป่า งานศพ และงานบุญแจกข้าว ยกเว้นงานแต่งงาน เพราะมีความเชื่อว่าแพ้คู่บ่าวสาว ไม่ตายจากันโดยเร็วก็อาจเลิกร้างจากกัน ในปัจจุบันงานที่แสดงเป็นประจำมิได้ขาดคืองานแก้บนที่อนุสาวรีย์ท่านท้าวสุรนารี หรือที่ชาวบ้านเรีกกันทั่วไปว่า งานแก้บนท่านย่าโม ปัจจุบันเพลงโคราชได้รับอิทธิพลเพลงลูกทุ่งและหมอลำเข้าไปด้วยแต่ยังแยกส่วนกันอยู่

 

 

เพลงโคราช ว่าด้วยจารีตและคติความเชื่อ

            เพลงโคราชเป็นการแสดงพื้นเมืองของจังหวัดนครราชสีมาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ที่สะท้อนถึงคติชนวิทยา วิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี และเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวจังหวัดนครราชสีมา  สันนิษฐานว่าเพลงโคราชมีมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เพลงโคราชมีลักษณะเป็นเพลงปฏิพากษ์ที่ไม่มีดนตรีประกอบการขับร้อง เน้นความคมคายและโวหารของเนื้อหาบทเพลงที่ใช้ในการขับร้องเป็นสำคัญ


จารีตและความเชื่อในกระบวนการเรียนรู้เพลงโคราช

           ในอดีตการเรียนรู้การแสดงเพลงโคราช ผู้ที่สนใจจะเป็นหมอเพลงหรือผู้แสดงเพลงโคราชจะไปฝากตัวเป็นศิษย์กับครูเพลง เพื่อให้ครูเพลงพิจารณาน้ำเสียง บุคลิก และปฏิภาณไหวพริบซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการเป็นหมอเพลงโคราช หากครูเพลงเห็นควรรับเป็นศิษย์ก็จะให้มาพำนักที่บ้านครูเพลงเพื่อฝึกหัดเป็นหมอเพลง ทั้งนี้ เริ่มด้วยการยกครูหรือทำพิธีบูชาครู เครื่องบูชาครูประกอบด้วย กรวยครู 6 กรวย ดอกไม้ขาว 6 คู่ เทียน 6 เล่ม ธูป 12 ดอก ผ้าขาว 1 ผืน เงินบูชาครู 6 บาท (บางแห่งใช้ 12 หรือ 24 บาท) เหล้าขาว 1 ขวด บุหรี่ 12 มวน โดยศิษย์จะถือพานยกครูมาบูชาครูเพลงเพื่อขอเป็นศิษย์ แล้วครูเพลงกล่าวนำให้ศิษย์ว่าตาม ครูจะทำน้ำมนต์ ประสระ (ครูเทน้ำมนต์รดศีรษะศิษย์) เพื่อเป็นสิริมงคล เมื่อศิษย์ทำการยกครูหรือบูชาครูแล้วครูเพลงมักจะให้ศิษย์เข้ามาพำนักอยู่ที่บ้านครูเพลง โดยช่วงเวลากลางวันศิษย์ก็จะช่วยครูเพลงทำงานบ้านหรืองานในเรือกสวนไร่นา ในช่วงเวลากลางคืน ศิษย์จะฝึกหัดเพลงโคราชด้วยการต่อเพลงกับครูเพลงแบบปากต่อปาก คืนละ ๑ กลอน ศิษย์ต้องท่องจำให้ขึ้นใจและว่าให้ครูฟังในตอนเช้า หากจำไม่ได้ก็ต้องต่อใหม่ในคืนถัดไปจนกว่าจำได้  ในขั้นตอนการฝึกหัดนี้นอกจากฝึกการต่อเพลงแล้วครูจะฝึกการเอื้อนทำนอง การออกเสียง และการด้นกลอนสดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้เชี่ยวชาญ ครูบางท่านเสกคาถามุตโตลงบนใบไม้แล้วให้ศิษย์กิน หรือเสกน้ำมนต์ล้างหน้า เสกข้าว 3 ปั้น ให้ศิษย์นั่งกินบนจอมปลวกช่วงตะวันขึ้น เชื่อกันว่าจอมปลวกเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทำให้ศิษย์มีสติปัญญาและปฏิภาณไหวพริบเฉียบแหลม เรียกกันว่า “องค์สี่” คือ ปัญญาดี เสียงดี ชั้นเชิงดี และใจเย็น


จารีตและความเชื่อในการแสดงเพลงโคราช

หมอเพลงโคราชจะมีคติความเชื่อ และจารีตข้อห้ามในการแสดงหลายประการด้วยกัน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ


1. จารีตและความเชื่อในลำดับการแสดง

          ในการแสดงเพลงโคราชก่อนที่จะขึ้นแสดงบนเวที หมอเพลงจะต้องทำการยกครู (ไหว้ครู) โดยเจ้าภาพจะต้องเตรียมขันครู (เครื่องไหว้ครู) ให้กับหมอเพลง ประกอบด้วย กรวยพระ 6 กรวย เทียน 6 เล่ม  ธูป 18 ดอก (กรวยละ 3 ดอก) เงิน 24 บาท  ผ้าขาว 1 ผืน  ดอกไม้ 12 ดอก สุราขาว 1 ขวด  บุหรี่ 1 ซอง อนึ่ง หมอเพลงแต่ละท่านจะมีรูปแบบของการไหว้ครูตามความเชื่อของแต่ละสายตระกูลแตกต่างกันไป


ตัวอย่างคำกล่าวยกครู สำนวนครูบุญสม กำปัง (นายบุญสม สังข์สุข)

“อิติปิโส ภะคะวา มือข้าพเจ้าสิบนิ้ว ยกขึ้นหว่างคิ้ว ข้าพเจ้าจะขอพนมกรนมัสการ สรรเสริญคุณพระพุทธคุณณัง  พระธรรมคุณณัง     พระสังฆคุณณัง  คุณบิดรมารดา  คุณครูบาอาจารย์  คุณอุปัชฌาย์อาจารย์  คุณพระอินทร์เจ้าฟ้า  ขอเชิญท่านเสด็จลงมา  รักษาดวงจิตดวงใจของข้าพเจ้า  ให้เป็นสุขทุกราตรี  ขอเชิญ  พระเสื้อเมือง  พระทรงเมืองผู้เริงราชย์  ขอเชิญท่านเสด็จลงมา  รักษาดวงจิตดวงใจของข้าพเจ้าให้มั่นคง  ข้าพเจ้าประสงค์สิ่งใด  ขอให้ข้าพเจ้าได้สิ่งนั้น เทอญ” 


          นอกจากนี้ ในการยกครูนี้ หมอเพลงก็จะว่าคาถามหานิยม หรือคาถาทรงปัญญา เพื่อเป็น   การเรียกผู้ชมให้นิยมหลงใหลในการแสดงของตน  ในที่นี้ขอยกตัวอย่างคาถามหานิยม สำนวนของครูบุญสม กำปัง (นายบุญสม สังข์สุข) ดังนี้


คาถามหานิยม  “สะสะนะมุโม  โปร่งปรุปราดเปรื่อง ข้าฉลาดยะเอ็นดู  นะโมพุทธายะ”

คาถาทรงปัญญา  “โอมปุรุ ทะลุปัญญา”

คาถาสาลิกาลิ้นทอง “กะระวิเว  วิเนอะ”

คาถาเสกแป้ง “นะเอยโมโม  นะเอยซ่อนเมตตา  นะเอยคนทั้งหลายดูกู นะ”

คาถาพุทธโอวาท  “พุทธะ  โอวาทะ”


2. จารีตและความเชื่อเกี่ยวกับสถานที่แสดง

การสร้างโรงเพลง การแสดงเพลงโคราชจะแสดงบนเวทีการแสดงหรือที่เรียกกันว่า “โรงเพลง” มีลักษณะเป็นศาลายกใต้ถุนสูง  มีเสา 4 เสา แต่เดิมหลังคามุงด้วยทางมะพร้าว หรือหญ้า หรือแฝก ตามวัสดุที่มีมากในแต่ละท้องถิ่น สำหรับการตั้งโรงเพลงนี้จะมีจารีตในการสร้างอยู่หลายประการด้วยกัน เชื่อว่าหากไม่ปฏิบัติตามจะทำให้มีอุปสรรคในการแสดง ด้นเพลงไม่ออก หรืออาจทำให้หมอเพลงล้มป่วย สำหรับจารีตและความเชื่อเกี่ยวกับสถานที่แสดงที่สำคัญ มีดังนี้

       (1)   ห้ามสร้างโรงเพลงคร่อมจอมปลวก

       (2)   ห้ามใช้ต้นไม้เป็นเสาของโรงเพลงด้านใดด้านหนึ่ง

       (3)   ห้ามสร้างโรงเพลงต่อจากยุ้งข้าว

       (4)   ห้ามสร้างโรงเพลงใกล้ บดบัง หรือเสมอศาลพระภูมิ

           หลังจากที่ทำการปลูกสร้างโรงเพลงเสร็จแล้ว ในอดีตจะมีการมัดตอกและบริกรรมคาถา เป็นการทำคุณไสยให้คู่แข่งมีอุปสรรค ไม่ประสบความสำเร็จในการแสดง  ทั้งนี้ หากโรงเพลงถูดมัดด้วยตอกก็จะต้อง   แก้ตอกเพื่อเป็นการแก้เคล็ด  


การขึ้นโรงเพลง การจะขึ้นโรงเพลงของหมอเพลงนั้นมีจารีตในการปฏิบัติเช่นกัน โดยหมอเพลงจะต้องดูทิศและวันที่เป็นมงคลในการขึ้นโรงเพลง เช่น หากแสดงตรงกับวันเสาร์ หมอเพลงจะต้องขึ้น  โรงเพลงจากทิศตะวันตก หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ถ้าการแสดงตรงกับวันอาทิตย์ หมอเพลงจะต้องขึ้น  โรงเพลงจากทิศเหนือ หันหน้าไปทางทิศใต้  หากฝ่าฝืนจะโดนผีหลวงหลาวเหล็ก ทำให้หมอเพลงด้นเพลงไม่ออก การแสดงมีอุปสรรค นอกจากการดูทิศแล้ว การจะก้าวขึ้นโรงเพลง หมอเพลงจะต้องก้าวเท้าตามลมหายใจข้างขวาหรือซ้าย ในก้าวแรกที่ขึ้นโรงเพลง เมื่อขึ้นโรงเพลงแล้วหมอเพลงก็จะว่าคาถามหานิยม คาถาทรงปัญญา เป็นต้น ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

อ้างอิงจาก : สำนักวรรณกรรมเเละประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร