การประสมวงดนตรีพื้นบ้านอีสานใต้
วงมโหรีอีสานใต้
ภาพจาก : https://www.youtube.com/watch?app=desktop&v=Bqmdv9_HHMY
ประวัติความเป็นมา
เป็นการละเล่นประกอบดนตรีที่ได้รับการสืบทอดมาแต่โบราณ และนับได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่ง ปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นที่นิยมอย่างมาก และถือได้ว่าเป็นวงดนตรีที่เป็นพื้นฐานในการละเล่นอย่างอื่น ๆ เช่น อาไย กะโนบติงต็อง กันตรึม เรือมลูดอันเร และการบรรเลงประกอบพิธีกรรม ตามความเชื่อทางทางไสยศาสตร์ เช่น โจลมาม็วด บ็องบ็อด ประกอบทั้งเป็นการบรรเลงประโคมในพิธีต่าง ๆ ทั้งงานมงคลและงานอวมงคล เป็นต้น
เครื่องดนตรี
วงมโหรีอีสานใต้ หรือที่เรียกกันอย่างสามัญว่า วงมโหรีเขมรนี้ จะประกอบด้วยเครื่องดนตรีดังต่อไปนี้
1. ซอด้วง 1-2 คัน
2. ซอตรัวเอก 1-2 คัน
3. กลองกันตรึม 1-2 ใบ
4. ระนาดเอก 1 ราง
5. พิณ 1 อัน
6. ปี่สไล 1 เลา
7. กลองรำมะนาขนาดใหญ่ 1 ใบ
8. เครื่องประกอบจังหวะ เช่น ฉิ่ง ฉาบ กรับ
เครื่องดนตรีดังกล่าวนี้ ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ในการจัดวงบางครั้งอาจจะลดหรือเพิ่มเครื่องดนตรีบางชิ้นได้ เช่น พิณ ระนาด แต่เครื่องอื่นๆ ให้คงไว้
บทขับร้อง
บทขับร้องในการเล่นมโหรี มีจังหวะที่แตกต่างกันออกไป แต่ส่วนมาก มีลักษณะใหล้เคียงกับการเล่นกันตรึม อาไย และกะโน๊บติงต็อง เพราะการละเล่นเหล่านี้ ใช้วงมโหรีเขมรเป็นหลัก ในการบรรเลงจะมีนักร้องทั้งสองฝ่าย (หญิง – ชาย) ร้องโต้ตอบกัน โดยมีการรำประกอบด้วยเนื้อหาที่ขับร้อง มักเป็นบทเกี้ยวพาราสี บทตลกต่างๆ ตามแบบของการละเล่นพื้นบ้านโดยทั่วๆ ไป
ลักษณะของการบรรเลง
การบรรเลงของวงมโหรีเขมรนี้ จะเริ่มจากบทไหว้ครูก่อนและบรรเลงสลับการขับร้องพร้อมด้วยการร่ายรำต่างๆ ที่สวยงาม ส่วนการจัดพิธีไหว้ครู มีพิธีแบบเดียวกันกับการเล่นกันตรึม หรือเรือมลูดอันเร โดยใช้เครื่องเช่นสังเวยอย่างเดียวกัน
วงกันตรึม
ภาพจาก : https://www.isangate.com/new/images/art-culture/instuments/kantruem_03.jpg
ประวัติความเป็นมา
กันตรึมหรือโจะกันตรึม เป็นดนตรีที่มีความสำคัญและมีบทบาทมากที่สุดแต่โบราณมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในปัจจุบันในแถบจังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์กำลังเป็นที่นิยม กันตรึมเป็นเครื่องดนตรีที่มีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของคนโบราณ ไม่ว่าจะเป็นพิธีแบบใด ดนตรีกันตรึมถูกนำไปใช้บรรเลงประกอบเสมอ เช่น งานแต่งงาน งานบวชนาค งานศพ หรือทางด้านพิธีกรรมเรียกว่า “ โจลมาม็วด ” ก็ใช้ดนตรีกันตรึมบรรเลงเป็นพื้น เครื่องดนตรีก็มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับงานด้วย
โอกาสที่แสดง
การเล่นกันตรึมนั้นมีความสำคัญมาตั้งแต่โบราณ เป็นเครื่องดนตรีที่นิยมว่าไพเราะ เข้าถึงจิตใจของผู้ฟังมากกว่าดนตรีประเภทอื่น ๆ กันตรึมจึงสามารถนำไปเล่นในโอกาสทั่ว ๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นงานมงคลหรืองานอวมงคล รวมถึงการบรรเลงประกอบความเชื่อทางไสยศาสตร์ เช่น การโจลมาม็วด (ก่รทรงเจ้าเข้าผี) บ็องบ็อด เป็นต้น กันตรึมนิยมนำไปเล่นในงานมงคล เช่น งานแต่งงาน งานโกนจุก งานสมโภชต่าง ๆ งานกฐิน งานผ้าป่า ฯลฯ โยเฉพาะงานแต่งงานแต่โบราณมาถือว่าขาดกันตรึมมิได้ กันตรึมในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมบางประการ ทั้งทางเครื่องดนตรีและบทร้อง
เครื่องดนตรี
1. กลองกันตรึม (โทน) 2 ใบ
2. ปี่อ้อ 1 เลา
3. ซอตรัวเอก (ซออู้) 1 คัน
4. ขลุ่ย 1 เลา
5. ฉิ่ง 1 คู่
6. ฉาบ 1 คู่
วงทุ่มโหม่ง ( ตึมุง )
ภาพจาก : https://www.facebook.com/photo.php?fbid=1213126802045088&id=593771720647269&set=a.593775067313601&locale=th_TH
ประวัติความเป็นมา
ทุ่มโหม่ง ภาษถิ่นเรียกว่า ตึมุง เป็นเครื่องดนตรีที่บรรเลงในงานศพโดยเฉพาะ ที่เรียกว่าทุ่มโหม่งหรือตึมุง เพราะตั้งชื่อตามเสียงกลอง ( ทุ่ม-ตึ ) และเสียงฆ้องหุ่ย ( โหม่ง-มุง )
ลักษณะที่เล่นและโอกาส
ผู้บรรเลงทุ่มโหม่ง จะตั้งเครื่องดนตรีคือ ฆ้องโหม่ง กลองเพล ฆ้องวง ปี่ ใกล้ ๆ กับที่ตั้งศพ และจะเล่นกล่อมศพไปตลอดคืน โอกาสที่เล่น จะบรรเลงตอนตั้งศพบำเพ็ญกุศล และทำบุญ 100 วัน
เครื่องดนตรี
1. ปี่ไฉนชนิดเล็ก 1 เลา
2. กลองเพลขนาดใหญ่ 1 ใบ
3. ฆ้องหุ่ย 1 ลูก
4. ฆ้องวง มีลูก 9 ลูก 1 วง
วงเรือมอันเร
ภาพจาก : https://esan108.com/เรือมอันเร.html
เป็นเครื่องดนตรีประกอบการรำกระทบสากหรือรำกระทบไม้
เครื่องดนตรี
1. ไม้สาด 2 คู่ คู่หนึ่งใช้รอง อีกคู่หนึ่งใช้เคาะและกระทบเป็นจังหวะ
2. ตะโพน 2 ลูก แต่ปัจจุบันนิยมใช้กลองกันตรึม (โทน) แทน
3. ปี่อ้อ 1 เลา แต่ปัจจุบันนิยมใช้ปี่สไล (ปี่ใน) แทน
4. อาจเพิ่มเครื่องกำกับจังหวะอย่างอื่นอีก เช่น ฉิ่งและกรับ
วงเรือมมะม็วด
ภาพจาก : https://www.youtube.com/watch?v=h9KXNgV-MAc
เป็นการประสมเครื่องดนตรีประกอบการรำแม่มดหรือรำผีฟ้า
เครื่องดนตรี
1. ซอ 1 คัน
2. ปี่อ้อ 1 เลา
3. ปี่สไล (ปี่ใน) 1 เลา
4. กลองกันตรึม (โทน) 2 ลูก
5. ตะโพน 1 ลูก
6. ฉิ่ง 1 คู่
7. กรับ 1 คู่
วงระบำกะโน้บติงต๊อง
http://www.isan.clubs.chula.ac.th/folkdance/index.php?transaction=isantai03.php
เป็นการประสมวงดนตรีประกอบการระบำกะโน้บติงต๊อง หรือระบำตั๊กแตนตำข้าว
เครื่องดนตรี
1. กลองกันตรึม (โทน) 2 ลูก (เดิมใช้กลองทัด)
2. ปี่สไล (ปี่ใน) 1 เลา
3. ซอตรัวเอก ( ซออู้) 1 คัน
4. ฉิ่ง 1 คู่
5. กรับ 1 คู่
วงอาไย
ภาพจาก : https://www.youtube.com/watch?v=5bKNwe3tdO8
เป็นวงเครื่องดนตรีประกอบการเล่นอาไย ( อาไยคือ การเล่นเบ็ดเตล็ดอย่างหนึ่ง ประกอบการเล่นมโหรี )
เครื่องดนตรี
1. ปี่สไล (ปี่ใน) 1 เลา
2. ซอตรัวเอก ( ซออู้) 1 คัน
3. กลองกันตรึม (โทน) 2 ลูก
4. เครื่องกำกับจังหวะคือกรับและฉิ่งอย่างละ 1 คู่
วงจเรียง
ภาพจาก : https://www.isangate.com/new/khmer/20-art-culture/acting/824-ja-riang.html
เป็นเครื่องดนตรีประกอบการจเรียง นิยมใช้เครื่องดนตรีเพียงชิ้นเดียว
เครื่องดนตรี
1. เกนหรือเคน ( แคน)
2. ตรัว (ซอ)
3. จเปย ( กระจับปี่)
นาฏศิลป์พื้นบ้านอีสานใต้
การจเรียง
จเรียงในภาษาเขมรเป็นคำกิริยา แปลว่า ขับร้อง ถ้าเป็นคำนามใช้คำว่าจำเรียง การเล่นจเรียงมีลักษณะคล้ายคลึงกับการเล่นหมอลำหรือการเล่นเพลงโคราช จเรียงอาจแบ่งได้เป็น 3 ประเภทตามลักษณะชิ่อของจเรียงคือ จเรียงที่มีชื่อตามชื่อของเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงประสานเสียง จเรียงที่มีชื่อตามลักษณะของเพลงที่ใช้ขับร้อง และจเรียงที่มีชื่อเรียกตามลักษณะงานประเพณี จเรียงแต่ละประเภทแบ่งออกได้ดังนี้
1. จเรียงที่มีชื่อเรียกตามเครื่องดนตรี
1.1 จเรียงตรัว จเรียงที่ใช้ซอประกอบ
1.2 จเรียงจเปย จเรียงที่ใช้กระจับปี่ประกอบ
1.3 จเรียงจรวง จเรียงที่ใช้ปี่จรวงประกอบแต่บางท่านก็ว่าใช้ปี่อังโกล-ปี่เขาควายประกอบ
2. จเรียงที่เรียกชื่อตามลักษณะของเพลง
2.1 จเรียงกันตรบไก เป็นการการขับร้องคนเดียวหรือเป็นการโต้ตอบของหมอจเรียงชาย-หญิง ไม่ใช้เครื่องดนตรีประกอบ
2.2 จเรียงนอระแกว เป็นการร้องโต้ตอบระหว่างชาย หญิง มีพ่อเพลง แม่เพลงและลูกคู่ บทร้องจบด้วย “ นอระแกว ”
2.3 จเรียงปังนา เป็นการขับร้องคล้ายกับจเรียงนอระแกว แต่มีจังหวะเร็วกว่า มีสร้อยแทรกและจบด้วย “ ปังนา ”
2.4 จเรียงไปยอังโกง เป็นการเกี้ยวพาราสี ใช้ปี่อ้อประกอบ
2.5 จเรียงอาไย เป็นการเล่นเบ็ดเตล็ดอย่างหนึ่ง ประกอบการเล่นมโหรี โดยมากเป็นการร้องเกี้ยวพาราสี
2.6 จเรียงเบริน เป็นการขับร้องโต้ตอบระหว่างชาย-หญิง โดยใช้แคนเป่า ประสานเสียงอย่างเดียวกับหมอลำ
3. จเรียงที่มีชื่อเรียกตามงานประเพณี
3.1 จเรียงตรด เป็นจเรียงในเทศกาลตรุษสงกรานต์ เพื่อขอรับบริจาคจตุปัจจัยจากครอบครัวต่าง ๆ แล้วนำไปถวายวัด
3.2 จเรียงซันตูจ (จเรียงตกเบ็ด) เป็นการขับร้องในงานเทศกาลต่ง ๆ ของพวกคนหนุ่ม เพื่อเกี่ยวสาวโดยใช้คันเบ็ดที่มีเหยื่อเป็นผลไม้ หรือขนมต่าง ๆ เป็นเหยื่อล่อสาว หากสาวคนใดรับขนมนั้นก็แสดงว่ารับรักชายที่หย่อนเบ็ดลงมา
เรือมลูดอันเร ( รำกระทบสาก)
เรือมอันเรเป็นศิลปะทางด้านดนตรีนาฏศิลป์ที่มีชื่อเสียงของชาวสุรินทร์ ซึ่งเป็นแหล่งกลางทางดนตรีนาฏศิลป์ในแถบอีสานใต้ ในงานแสดงของช้างประจำปีของจังหวัดสุรินทร์ จะต้องมีการเรือมลูดอันเร ซึ่งเป็นศิลปะของท้องถิ่นให้ผู้ที่ไปเที่ยวชมได้ชมกัน
โอกาสที่แสดง
แต่เดิมการเล่นเรือมลูดอันเรเล่นกันเฉพาะในเดือน 5 หรือแคแจตรเท่านั้น โดยหนุ่มสาวจะมาร่วมกันเล่นเรือมลูดอันเร เพื่อความสนุกสนานรื่นเริงประจำปี โดยเล่นกันที่ใต้ร่มมะพร้าวที่ลานหน้าบ้าน แต่ปัจจุบันได้มีการนำไปเล่นในงานสำคัญ ๆ ที่ออกหน้าออกตา เช่น งานช้างประจำจังหวัดสุรินทร์
ลักษณะการเล่น
หนุ่มสาวจะนำสากมา 2 คู่ แล้ววางเป็นคู่ไขวกันมีคนจับปลายสาก 2 คน ซึ่งจะเป็นผู้กระทบสากไปตามจังหวะเพลง ผู้รำคือ ฝ่ายหญิงและฝ่ายชายจะรำเป็นคู่ ๆ
เครื่องดนตรี
1. สากไม้ทำด้วยไม้แก่นกลม 2 คู่
2. ปี่อ้อ 1 เลา ( ปัจจุบันนิยมใช้สไลแทน)
3. ซอตรัวเอก (ซออู้กลาง) 1 คัด
4. กรับ ฉิ่ง ประกอบจังหวะ และมีการขับร้องประกอบเข้าไปกับการบรรเลงดนตรีด้วย
กะโน้บติงต็อง ( ระบำตั๊กแตนตำข้าว )
กะโน้บติงต็อง เป็นภาษพื้นเมืองของชางอีสาน แปลว่า ตั๊กแตนตำข้าว ระบำตั๊กแตนตำข้าวนี้กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในแถบอีสานใต้ แหล่งกำเนิดกะโน้บติงต็องคือ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของดนตรีและนาฏศิลป์ของแถบอีสานใต้ ระบำตั๊กแตนเป็นการรำที่สนุกสนานเร้าอารมณ์ การเต้นโยกไปโยกมาเป็นการเลียนแบบตั๊กแตนตำข้าว การเต้นรำกะโน้บติงต็องมีการรำเป็นหมู่
ลักษณะการเล่น
ผู้เล่นจะแบ่งเป็นฝ่ายชาย ฝ่ายหญิง สมมุติเป็นตั๊กแตนตัวผู้และตั๊กแตนตัวเมีย เสื้อกางเกงเป็นชุดติดกัน สำหรับตั๊กแตนตัวเมีญจะมีกระโปรงสวมทับไปอีกชั้น ระบำตั๊กแตนจะรำเป็นคู่ ๆ มีท่ารำสลับเปลี่ยนกันไป
เครื่องดนตรี
1. กลองกันตรึม 2 ลูก ( อาจใช้กลองทัดหรือตะโพนแทนก็ได้ )
2. ปี่สไล 1 เลา
3. ซอตนัวเอก 1 คัน ( ซออู้ขนาดกลาง )
4. เครื่องกำกับจังหวะ คือ ฉิ่ง กรับ
ลิเกอีสานใต้
ลิเกอีสานใต้มีอยู่น้อยมาก เพราะไม่ใคร่ได้รับความนิยม อีกประการหนึ่งผู้เล่นเล่นยาก ไม่มีใครถนัด ลิเกอีสานใต้จะใช้บทร้องและบทเจรจาด้วยภาษาเขมรสูง ( ปัจจุบันไม่ค่อยมีใครสืบทอดทำให้การเล่นอย่างนี้ มีแต่จะสูญไปตามการเวลาและตามความเจริญสมัยใหม่ )
ลักษณะการเล่น
ดำเนินเรื่องคล้ายกับลิเกของไทย คือ ก่อนการแสดงจะมีการขับร้องรำลึกถึงครูบาอาจารย์
เทวดาอารักษ์ต่าง ๆ ต่อมาก็มีการปล่อยลิงออกโรง คือ คนที่แสดงตัวเป็นลิงออกมาเต้น ต่อมาก็มีรำเบิกโรงก่อนจะมีการแสดงเป็นเรื่องเป็นราว การแสดงก็มีทั้งบทร้องและบทเจรจา
เครื่องดนตรี
1. ปี่สไลชนิดใหญ่ที่สุด
2. กลองรำมะนา 2 ใบ
3. ซออู้ 1 คัน
อาไย
อาไยเป็นการเล่นเบ็ดเตร็ดอย่างหนึ่งของชาวชนบทแถบอีสานใต้ การละเล่นแบบนี้สืบทราบได้ว่ารับมาจากกัมพูชา เพราะแต่เดิมทีชาวไทยและกัมพูชามีสัมพันธไมตรีกันดี ชาวไทยแถบสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ได้ไปเที่ยวค้าขายกับชาวกัมพูชา และได้รับการละเล่นมา
ลักษณะการเล่น
การเล่นอาไย มีลักษณะการเล่นแบบลำตัดและอีแซวของภาคกลาง เป็นบทโต้ตอบที่ต้องใช้ปฏิภาณระหว่างชชายหนุ่มกับหญิงสาว บทที่ร้องเป็นบทปฏิพากย์ในเชิงเกี้ยวพาราสี บรรดาหนุ่มสาวนิยมเล่นเมื่อมีงานประเพณีต่าง ๆ
เครื่องดนตรี
1. ปี่สไล 1 เลา
2. ซอตรัวเอก 1 คัน
3. กลองกันตรึม 2 ลูก
4. ขลุ่ย 1 เลา
5. เครื่องกำกับจังหวะ คือ กรับ ฉิ่ง
เรือมตรษ ( รำตรุษสงกรานต์ )
การรำตรมเป็นการละเล่นพื้นบ้านอีสานใต้ ที่มีการเล่นกันเป็นพื้นทุก ๆ ปีโดยเฉพาะในวันตรุษสงกรานต์ การรำตรดไม่สามารถสืบสาวประวัติได้ว่าเริ่มกันมาตั้งแต่เมื่อไร การเล่นนี้มีการสืบทอดกันมาแต่โบราณ การรำตรดเพื่อความสนุกสนานแล้วยังถือว่าได้บุญกุศลด้วย เพราะจะมีการรำไปทุกบ้านทุกหลังคาเรือน เจ้าของบ้านจะนำจัตุปัจจัยเครื่องไทยทานต่าง ๆ มอบให้แก่หัวหน้าผู้รำตรด เพื่อจะได้นำไปมอบให้แก่วัดด้วย
ลักษณะการเล่น
ผู้เป็นหัวหน้าหรือประธานในการเล่นรำตรดจะรวบรวมสมาชิกในหมู่บ้าน ตั้งเป็นวงรำตรดขึ้นและพาลูกน้องไปรำที่ลานหน้าบ้านไปทั่ว ๆ จนครบทุกหลังคาเรือน
เครื่องดนตรี
1. กลองกันตรึม 2 ลูก
2. แคน
3. ขลุ่ย
4. เครื่องกำกับจังหวะ อาจมีกรับหรือคันขัวร
โจลมาม็วด ( การทรงเจ้าเข้าผี )
โจลมาม็วดเป็นพิธีกรรมในการทรงเจ้าเข้าผี เป็นความเชื่อมาแต่โบราณ ที่ว่าผู้ใดเป็นไข้ได้ป่วยไม่สบายใจด้วยประการใดประการหนึ่งก็ตาม เป็นเพราะเจ้าที่เจ้าทาง ผีสางเทวดาบันดาลให้เป็นไป วิธีปัดรังควานได้นั้นต้องใช้วิธีโจลมาม็วด โดยมีคนเข้าทรงเรียกว่า มาม็วด
เครื่องดนตรี
1. กลองกันตรึม 2 ลูก อาจใช้ตะโพนแทนก็ได้
2. ปี่อ้อ 1 เลา อาจใช้ปี่สไลแทนก็ได้
3. ซอตรัวเอก 1 คัน
จากที่เราได้กล่าวถึงวัฒนธรรมและการละเล่น ทั้งภาคอีสานเหนือและภาคอีสานใต้ไปแล้วนั้น ในภาคอีสานนั้นยังมีอีกกลุ่มวัฒนธรรมหนึ่งที่มีเอกลักษณ์ของตนเอง
กลุ่มวัฒนธรรมโคราช
ภาพจาก : https://www.nectec.or.th/schoolnet/library/create-web/10000/arts/10000-12307.html
เดิมที่นั้นเพลงพื้นบ้านของโคราชมีมากมายหลายชนิด เช่น เพลงกล่อมลูก เพลงกลองยาว เพลงเซิ้งบั้งไฟ เพลงแห่นางแมว เพลงปี่แก้ว (ปี่ซอ) เพลงลากไม้ และเพลงเชิดต่าง ๆ ในยามสงกรานต์ ท่านขุนสุบงกชศึกษากร สันนิษฐานว่า เพลงโคราชเลียนแบบมาจากเพลงฉ่อยของภาคกลาง แต่ใช้คำโคราชบ้าง คำไทยภาคกลางบ้าง ประกอบเป็นเพลงและใช้สำเนียงโคราชจึงเรียกว่า เพลงโคราช
เพลงโคราชดั้งเดิมเรียกว่า เพลงก้อม จากเพลงก้อมก็พัฒนาเป็นเพลงเอ่ย ( เพลงรำหรือเพลงโรงก็เรียก ) เพลงคู่สี่ เพลงคู่หก เพลงคู่แปด เพลงคู่สิบ และเพลงคู๋สิบสองตามลำดับ แต่เพลงโคราชที่นิยมขับร้องกันในปัจจุบัน ส่วนมากเป็นเพลงคู่แปด แต่ท่านขุนสุบงกชศึกษากรเขียนเอาไว้ว่า เพลงโคราชแบ่งเป็น 5 ปรเภท คือ เพลงขัดอัน เพลงก้อม เพลงหลัก เพลงจังหวะรำ เพลงสมัยปัจจุบัน
โอกาสในการแสดง
เพลงโคราชใช้แสดงในงานบุญต่าง ๆ แทบทุกชนิด เช่น งานตัดผมไฟ งานโกนจุก งานบวชนาค งานขึ้นบ้านใหม่ งานทอดกฐิน งานทอดผ้าป่า งานศพ และงานบุญแจกข้าว ยกเว้นงานแต่งงาน เพราะมีความเชื่อว่าแพ้คู่บ่าวสาว ไม่ตายจากันโดยเร็วก็อาจเลิกร้างจากกัน ในปัจจุบันงานที่แสดงเป็นประจำมิได้ขาดคืองานแก้บนที่อนุสาวรีย์ท่านท้าวสุรนารี หรือที่ชาวบ้านเรีกกันทั่วไปว่า งานแก้บนท่านย่าโม ปัจจุบันเพลงโคราชได้รับอิทธิพลเพลงลูกทุ่งและหมอลำเข้าไปด้วยแต่ยังแยกส่วนกันอยู่
เพลงโคราช ว่าด้วยจารีตและคติความเชื่อ
เพลงโคราชเป็นการแสดงพื้นเมืองของจังหวัดนครราชสีมาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ที่สะท้อนถึงคติชนวิทยา วิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี และเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวจังหวัดนครราชสีมา สันนิษฐานว่าเพลงโคราชมีมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เพลงโคราชมีลักษณะเป็นเพลงปฏิพากษ์ที่ไม่มีดนตรีประกอบการขับร้อง เน้นความคมคายและโวหารของเนื้อหาบทเพลงที่ใช้ในการขับร้องเป็นสำคัญ
จารีตและความเชื่อในกระบวนการเรียนรู้เพลงโคราช
ในอดีตการเรียนรู้การแสดงเพลงโคราช ผู้ที่สนใจจะเป็นหมอเพลงหรือผู้แสดงเพลงโคราชจะไปฝากตัวเป็นศิษย์กับครูเพลง เพื่อให้ครูเพลงพิจารณาน้ำเสียง บุคลิก และปฏิภาณไหวพริบซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการเป็นหมอเพลงโคราช หากครูเพลงเห็นควรรับเป็นศิษย์ก็จะให้มาพำนักที่บ้านครูเพลงเพื่อฝึกหัดเป็นหมอเพลง ทั้งนี้ เริ่มด้วยการยกครูหรือทำพิธีบูชาครู เครื่องบูชาครูประกอบด้วย กรวยครู 6 กรวย ดอกไม้ขาว 6 คู่ เทียน 6 เล่ม ธูป 12 ดอก ผ้าขาว 1 ผืน เงินบูชาครู 6 บาท (บางแห่งใช้ 12 หรือ 24 บาท) เหล้าขาว 1 ขวด บุหรี่ 12 มวน โดยศิษย์จะถือพานยกครูมาบูชาครูเพลงเพื่อขอเป็นศิษย์ แล้วครูเพลงกล่าวนำให้ศิษย์ว่าตาม ครูจะทำน้ำมนต์ ประสระ (ครูเทน้ำมนต์รดศีรษะศิษย์) เพื่อเป็นสิริมงคล เมื่อศิษย์ทำการยกครูหรือบูชาครูแล้วครูเพลงมักจะให้ศิษย์เข้ามาพำนักอยู่ที่บ้านครูเพลง โดยช่วงเวลากลางวันศิษย์ก็จะช่วยครูเพลงทำงานบ้านหรืองานในเรือกสวนไร่นา ในช่วงเวลากลางคืน ศิษย์จะฝึกหัดเพลงโคราชด้วยการต่อเพลงกับครูเพลงแบบปากต่อปาก คืนละ ๑ กลอน ศิษย์ต้องท่องจำให้ขึ้นใจและว่าให้ครูฟังในตอนเช้า หากจำไม่ได้ก็ต้องต่อใหม่ในคืนถัดไปจนกว่าจำได้ ในขั้นตอนการฝึกหัดนี้นอกจากฝึกการต่อเพลงแล้วครูจะฝึกการเอื้อนทำนอง การออกเสียง และการด้นกลอนสดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้เชี่ยวชาญ ครูบางท่านเสกคาถามุตโตลงบนใบไม้แล้วให้ศิษย์กิน หรือเสกน้ำมนต์ล้างหน้า เสกข้าว 3 ปั้น ให้ศิษย์นั่งกินบนจอมปลวกช่วงตะวันขึ้น เชื่อกันว่าจอมปลวกเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทำให้ศิษย์มีสติปัญญาและปฏิภาณไหวพริบเฉียบแหลม เรียกกันว่า “องค์สี่” คือ ปัญญาดี เสียงดี ชั้นเชิงดี และใจเย็น
จารีตและความเชื่อในการแสดงเพลงโคราช
หมอเพลงโคราชจะมีคติความเชื่อ และจารีตข้อห้ามในการแสดงหลายประการด้วยกัน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. จารีตและความเชื่อในลำดับการแสดง
ในการแสดงเพลงโคราชก่อนที่จะขึ้นแสดงบนเวที หมอเพลงจะต้องทำการยกครู (ไหว้ครู) โดยเจ้าภาพจะต้องเตรียมขันครู (เครื่องไหว้ครู) ให้กับหมอเพลง ประกอบด้วย กรวยพระ 6 กรวย เทียน 6 เล่ม ธูป 18 ดอก (กรวยละ 3 ดอก) เงิน 24 บาท ผ้าขาว 1 ผืน ดอกไม้ 12 ดอก สุราขาว 1 ขวด บุหรี่ 1 ซอง อนึ่ง หมอเพลงแต่ละท่านจะมีรูปแบบของการไหว้ครูตามความเชื่อของแต่ละสายตระกูลแตกต่างกันไป
ตัวอย่างคำกล่าวยกครู สำนวนครูบุญสม กำปัง (นายบุญสม สังข์สุข)
“อิติปิโส ภะคะวา มือข้าพเจ้าสิบนิ้ว ยกขึ้นหว่างคิ้ว ข้าพเจ้าจะขอพนมกรนมัสการ สรรเสริญคุณพระพุทธคุณณัง พระธรรมคุณณัง พระสังฆคุณณัง คุณบิดรมารดา คุณครูบาอาจารย์ คุณอุปัชฌาย์อาจารย์ คุณพระอินทร์เจ้าฟ้า ขอเชิญท่านเสด็จลงมา รักษาดวงจิตดวงใจของข้าพเจ้า ให้เป็นสุขทุกราตรี ขอเชิญ พระเสื้อเมือง พระทรงเมืองผู้เริงราชย์ ขอเชิญท่านเสด็จลงมา รักษาดวงจิตดวงใจของข้าพเจ้าให้มั่นคง ข้าพเจ้าประสงค์สิ่งใด ขอให้ข้าพเจ้าได้สิ่งนั้น เทอญ”
นอกจากนี้ ในการยกครูนี้ หมอเพลงก็จะว่าคาถามหานิยม หรือคาถาทรงปัญญา เพื่อเป็น การเรียกผู้ชมให้นิยมหลงใหลในการแสดงของตน ในที่นี้ขอยกตัวอย่างคาถามหานิยม สำนวนของครูบุญสม กำปัง (นายบุญสม สังข์สุข) ดังนี้
คาถามหานิยม “สะสะนะมุโม โปร่งปรุปราดเปรื่อง ข้าฉลาดยะเอ็นดู นะโมพุทธายะ”
คาถาทรงปัญญา “โอมปุรุ ทะลุปัญญา”
คาถาสาลิกาลิ้นทอง “กะระวิเว วิเนอะ”
คาถาเสกแป้ง “นะเอยโมโม นะเอยซ่อนเมตตา นะเอยคนทั้งหลายดูกู นะ”
คาถาพุทธโอวาท “พุทธะ โอวาทะ”
2. จารีตและความเชื่อเกี่ยวกับสถานที่แสดง
การสร้างโรงเพลง การแสดงเพลงโคราชจะแสดงบนเวทีการแสดงหรือที่เรียกกันว่า “โรงเพลง” มีลักษณะเป็นศาลายกใต้ถุนสูง มีเสา 4 เสา แต่เดิมหลังคามุงด้วยทางมะพร้าว หรือหญ้า หรือแฝก ตามวัสดุที่มีมากในแต่ละท้องถิ่น สำหรับการตั้งโรงเพลงนี้จะมีจารีตในการสร้างอยู่หลายประการด้วยกัน เชื่อว่าหากไม่ปฏิบัติตามจะทำให้มีอุปสรรคในการแสดง ด้นเพลงไม่ออก หรืออาจทำให้หมอเพลงล้มป่วย สำหรับจารีตและความเชื่อเกี่ยวกับสถานที่แสดงที่สำคัญ มีดังนี้
(1) ห้ามสร้างโรงเพลงคร่อมจอมปลวก
(2) ห้ามใช้ต้นไม้เป็นเสาของโรงเพลงด้านใดด้านหนึ่ง
(3) ห้ามสร้างโรงเพลงต่อจากยุ้งข้าว
(4) ห้ามสร้างโรงเพลงใกล้ บดบัง หรือเสมอศาลพระภูมิ
หลังจากที่ทำการปลูกสร้างโรงเพลงเสร็จแล้ว ในอดีตจะมีการมัดตอกและบริกรรมคาถา เป็นการทำคุณไสยให้คู่แข่งมีอุปสรรค ไม่ประสบความสำเร็จในการแสดง ทั้งนี้ หากโรงเพลงถูดมัดด้วยตอกก็จะต้อง แก้ตอกเพื่อเป็นการแก้เคล็ด
การขึ้นโรงเพลง การจะขึ้นโรงเพลงของหมอเพลงนั้นมีจารีตในการปฏิบัติเช่นกัน โดยหมอเพลงจะต้องดูทิศและวันที่เป็นมงคลในการขึ้นโรงเพลง เช่น หากแสดงตรงกับวันเสาร์ หมอเพลงจะต้องขึ้น โรงเพลงจากทิศตะวันตก หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ถ้าการแสดงตรงกับวันอาทิตย์ หมอเพลงจะต้องขึ้น โรงเพลงจากทิศเหนือ หันหน้าไปทางทิศใต้ หากฝ่าฝืนจะโดนผีหลวงหลาวเหล็ก ทำให้หมอเพลงด้นเพลงไม่ออก การแสดงมีอุปสรรค นอกจากการดูทิศแล้ว การจะก้าวขึ้นโรงเพลง หมอเพลงจะต้องก้าวเท้าตามลมหายใจข้างขวาหรือซ้าย ในก้าวแรกที่ขึ้นโรงเพลง เมื่อขึ้นโรงเพลงแล้วหมอเพลงก็จะว่าคาถามหานิยม คาถาทรงปัญญา เป็นต้น ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น
อ้างอิงจาก : สำนักวรรณกรรมเเละประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร
ข้อตกลงการใช้ประโยชน์ตัวอย่างโน้ตลายเพลงพื้นบ้านภาคอีสานจากเวบไซต์ krusanti.org
1. ใช้เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาเท่านั้น
2. จะไม่นำไฟล์ภาพ, ไฟล์เสียง, ไฟล์วิดิโอ หรือไฟล์อื่นใดที่ดาวน์โหลดจากเวบไซต์นี้ไปใช้เพื่อการพานิชย์ หรือการค้าใดๆ ทั้งสิ้น
3. โน้ตลายเพลงที่นำมาแสดงในเว็บไซต์ krusanti.org นั้น Admin ได้รวบรวมจากแหล่งต่างๆ บ้าง และแกะโน้ตเองบ้างเพื่อให้นักเรียนและผู้สนใจได้ใช้เป็นแนวทางเบื้องต้นในการศึกษาเรียนรู้และฝึกซ้อมตนเอง ดังนั้น จึงไม่ควรนำไปใช้ในการอ้างอิงเอกสารวิชาการใดๆ ทั้งสิ้น
4. ท่านมาถึงหน้าเวบเพจนี้แล้ว แสดงว่ายอมรับขอตกลง
Admin นำตัวอย่างโน้ตลายเพลงพื้นบ้านภาคอีสาน เพื่อเป็นวิทยาทานและใช้ประกอบการศึกษา เท่านั้น
<< ตัวอย่างโน้ตลายเพลงพื้นบ้านภาคอีสาน คลิกที่นี่ >>
ดนตรีพื้นบ้านอีสาน เป็นศิลปวัฒนธรรมแขนงหนึ่งกำเนิดจากกลุ่มชนต่าง ๆ ในอดีตได้สร้างสมสืบทอดติดต่อกันมา เป็นเวลานานจนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่มชนซึ่งมีอยู่ในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสานของประเทศไทย ในสมัยโบราณอาจกล่าวได้ว่าภาคอีสานเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชนชาวพื้นเมืองหลายกลุ่มชน ที่ได้อพยพปนเปกันกับชาวพื้นเมืองเดิม โดยการนำเอาศิลปวัฒนธรรมรวมทั้งการขับร้อง ดนตรี และการละเล่นต่าง ๆ ผสมผสานกันมาตั้งแต่สมัยล้านนาและล้านช้าง โดยยึดเอาแนวลำแม่น้ำโขงเป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำ อันสำคัญจากทางเหนือลงสู่ทางใต้ ดั้งนั้นบริเวณที่ราบลุ่มสองฝั่งแม่น้ำโขง จึงเป็นแหล่งอารยธรรมดั้งเดิมของชาวพื้นเมืองในสมัยนั้น แต่มีเทือกเาสูง เป็นแนวขอบกันระหว่างอาณาจักรล้านนา ล้านช้างกับอาณาจักรสยาม (ประเทศไทย) จึงทำให้ไม่สามารถติดต่อกันได้สะดวก ศิลปวัฒนธรรม ประพณี ดนตรี และการละเล่นต่าง ๆ ของอาณาจักรสยามในภาคกลางกับภาคอีสานที่อยู่ในอาณาจักรล้านนา ล้านช้าง จึงมีความแตกต่างกันจากสาเหตุพื้นที่ภูมิประเทศที่มีเทือกเขาขวางกั้น เป็นแนวระหว่างภาคกลางกับภาคอีสาน ส่วนภาคอีสานซึ่งมีหลายกลุ่มชน ศิลปวัฒมนธรรม มีความแตกต่างกัน กลุ่มชนที่มีอิทธิพลเหนือกว่าย่อมนำเาวัฒนธรรมที่มีอยู่แล้ว มาผสมผสานกับวัฒนธรรมของตนเอง เช่น ภาษาพื้นเมืองของภาคอีสานมีความแตกต่างกับของขอม หรือเขมร ได้ถ่ายทอดหลงเหลือไว้ในดินแดนแถบอีสานตอนล่าง ที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศกัมพูชา ในด้านของดนตรี การขับร้องที่แตกต่างไปจากภาคกลางจึงอาจกล่าวได้ว่า วัฒนธรรมดนตรีและการละเล่นในภาคอีาสนมี 2 ลักษณะคือ การละเล่นดนตรีพื้นบ้านแบบไทยลาว และการละเล่นดนตรีพื้นบ้านแบบไทยเขมรดังต่อไปนี้
2. วัฒนธรรมดนตรีกลุ่มอีสานใต้ เป็นที่ราบดอนใต้เรียกว่า แอ่งโคราช ได้แก่จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ วัฒนธรรมกลู่มอีสานใต้มีการสืบทอดวัฒนธรรม แบ่งออกเป็นกลุ่มได้ 2 กลุ่มใหญ่ คือ
2.1 กลุ่มที่สืบทอดมาจากเขมร-ส่วยได้แก่ กลุ่มชนส่วนใหญ่ที่อยู่ในจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ เป็นกลุ่มชนที่ได้รับการสืบทอดมาจากเขมร-ส่วยนี้จะพูดภาษาเขมรและภาษาส่วย
2.2 กลุ่มวัฒนธรรมโคราช ได้แก่กลุ่มชนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนครราชสีมาและบางส่วนในบุรีรัมย์ ซึ่งจะพูดภาษาโคราช กล่าวโดยสรุป การศึกษาความเป็นมาของดนตรีพื้นบ้านจะต้องศึกษาถึงลักษณะพื้นที่ และภูมิประเทศเพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาวัฒนธรรมดนตรีกลุ่มชนต่าง ๆ ตลอดจนการผสมผสานกันทางวัฒนธรรมความคงอยู่ การเปลี่ยนแปลง รวมทั้งการรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ อาจเป็นการสืบทอดหรือถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง แล้วแต่กลุ่มชนใดที่มีความเจริญรุ่งเรืองกว่าย่อมรักษาเอกลักษณ์แบบฉบับเฉพาะตัวของกลุ่มชนตัวเองไว้ได้ กลุ่มใดที่มีความล้าหลังกว่าก็ต้องรับเอาวัฒนธรรมของกลุ่มที่มีอิทธิพลมาดัดแปลงให้เข้ากับวัฒนธรรมของตนเอง ดังนั้นจึงขอกล่าวโดยแบ่งออกเป็นอีสานเหนือและอีสานใต้