เครื่องดนตรีประเภทสี
ซอพื้นเมือง
เครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานประเภทเครื่องสี คือ ซอ ชาวบ้านใช้เล่นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้ง ๆ ทีซอมีเสียงไพเราะกว่า หรือพอ ๆ กับเครื่องดนตรีชนิดอื่น แต่ก็มีผู้เล่นไม่มากนัก
รูปร่างลักษณะ
วงการดนตรีเชื่อว่าเครื่องดนตรีประเภทสีมีวิวัฒนาการมาจากประเภทดีด สมัยที่มีเครื่องสายแรก ๆ นั้นคงใช้นิ้วมือ หรือวัตถุบางๆ ดีดให้เกิดเสียง เสียงที่เกิดมักเป็นช่วงสั้น ๆ เมื่อต้องการทอดเสียงให้ยาวออกไปจำเป็นต้องดีดรัว ซึงก็เป็นช่วงสั้น ๆ ติดต่อกันอย่างรวดเร็วอยู่นั้นเอง ภายหลังจึงค้นพบว่าถ้าสีสายด้วยคันชัก จะทำให้มีเสียงยาวไม่ขาดตอนและมีลักษณะเสียง (Tone Color) คนละแบบกับการดีด ต่อมาจึงแยกเครื่องดนตรีประเภทดีดกับประเภทสีออกเป็นคนละประเภท
โอกาสที่บรรเลง
โอกาสใช้ซอบรรเลงก็เหมือนเครื่องดนตรีชนิดอื่นที่กล่าวมาแล้ว เช่น การคบงัน การฉลองงานเทศกาลต่าง ๆ ซอใช้ทั้งเดี่ยวและผสมวง
ซอไม้ไผ่ หรือซอบั้ง
เป็นซอที่ทำจากไม้ไผ่ 1 ปล้องมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2-3 นิ้ว ถากผิวออกจนเหลือกระบอกบาง ๆ เจาะรูให้เกิดโพรงเสียงขึ้นสายสองสายไปตามความยาวของกระบอกไม้ไผ่ แล้วสีด้วยคันชัก มีข้อเสียคือเสียงเบาเกินไป
ซอปี๊บ
เป็นซอที่ทำจากปี๊บน้ำมันก๊าดหรือปี๊บลูกอมมีสายลวดสองสายขึ้นเสียงคู่สี่หรือคู่ห้า คันชักอาจอยู่ระหว่างกลางของสายทั้งสอง หรืออาจจะอยู่ข้างนอก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับครูแต่ละคน แต่ส่วนมากแล้วถ้าสีประกอบหมอลำ นิยมให้คันชักอยู่ข้างนอก เพลงที่สีซอปี๊บเป็นเพลงแคน อาจสีเดี่ยวหรือสีประสานเสียงหมอลำก็ได้
ซอกระป๋อง
เป็นซอสองสายเช่นเดียวกับซอปี๊บแต่กระโหลกซอทำด้วยกระป๋อง และนิยมวางคันชักไว้ข้างในคืออยู่ระหว่างกลางของสาย ทั้งขึ้นเสียงเป็นคู่ห้า นิยมสีเพลงลูกทุ่ง ประกอบการขับร้องหรือสีเพลงลายพื้นบ้านของแคน
เครื่องดนตรีประเภทตี |