เครื่องดนตรีประเภทตี และเครื่องดนตรีประเภทประกอบจังหวะ
โปงลาง
ดนตรีพื้นบ้านอีสานถือว่าจังหวะสำคัญมาก เครื่องดนตรีประเภทตีใช้ดำเนินทำนองอย่างเดียวคือ โปงลาง โปงลางมีวิวัฒนาการมาจากระฆังแขวนคอสัตว์เพื่อให้เกิดเสียงโปงลางที่ใช้บรรเลงอยู่ในภาคอีสานมี 2 ชนิด คือ โปงลางไม้และโปงลางเหล็ก โปงลางไม้ซึ่งประกอบด้วยลูกโปงลางประมาณสิบสองลูกเรียงตามลำดับเสียงสูง ต่ำ ใช้เชือกร้อยเป็นแผงระนาด แต่โปงลางไม่ใช้รางเพราะเห็นว่าเสียงดังอยู่แล้ว แต่นำมาแขวนกับที่แขวน ซึ่งยึดส่วนปลายกับส่วนโคนให้แผงโปงลางทำมุมกับพื้น 45 องศา ไม้ตีโปงลางทำด้วยแก่นไม้มีหัวงอนคล้ายค้อนสำหรับผู้บรรเลงใช้ตีดำเนินทำนอง 1 คู่ และอีก 1 คู่สำหรับผู้ช่วยใช้เคาะทำให้เกิดเสียงประสานและจังหวะตามลักษณะของดนตรีพื้นบ้านอีสานที่มีเสียงประสาน
โอกาสที่บรรเลง
เนื่องจากโปงลางประกอบด้วยลูกโปงลางขนาดใหญ่หลายลูกจึงมีน้ำหนักมาก ไม่สะดวกแก่การเคลื่อนย้ายได้เหมือนเครื่องดนตรีพื้นบ้านชนิดอื่น ๆ คราวใดมีการบรรเลงอยู่กับที่และต้องการให้งานเป็นที่เอิกเกริกครื้นเครงโปงลางมักมีส่วนด้วยเสมอ
กลองเส็ง
หรือกลองกิ่งหรือกลองแต้ เป็นกลองคู่ประเภทกลองหน้าเดียว นิยมใช้สำหรับการประลองความดัง หรืออาจใช้กับงานบุญประเพณีต่าง ๆ เช่นงานบุญบั้งไฟ หรืองานบุญเผวด เป็นต้น การตีกลองเส็งจะใช้ไม้ตีซึ่งจะทำจากไม้เค็งหรือไม้หยี เพราะเหนียวและทนกว่าไม้ชนิดอื่น ๆ กลองสองหน้า หุ่นกลองทำด้วยไม้ขึ้นหน้าด้วยหนัง ดึงให้ตึงด้วยเชือกหนังมีขนาดต่าง ๆ กัน ตั้งแต่ขนาดยาวประมาณ
50 เซนติเมตร จนถึง 150 เซนติเมตรโดยทั่วไปขนาดประมาณ ด้านหน้าขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 18 เซนติเมตร ด้านหลังขนาด 15 เซนติเมตร ความยาวของกลอง 36 เซนติเมตร ชุดหนึ่งมี 2 ลูก ใช้ตีด้วยไม้มะขามหรือไม้เล็งหุ้มตะกั่วที่หัว เสียงดังมากการเทียบเสียง ไม่มีการเทียบระดับเสียงแต่พยายามปรับให้มีเสียงดังกังวาลมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้
กลองยาว
เป็นกลองด้วยหนังหน้าเดียวตัวกลองทำด้วยไม้มะม่วง ตอนหน้าของกลองจะมีขนาดใหญ่ ตอนท้ายมีลักษณะเรียวหลายขนาด ตรงกลางของหน้ากลองจะติดข้าวสุกบดผสมกับขี้เถ้าถ่วงเสียงตัวกลองยาวให้เกิดเสียงก้องดังน่าฟังยิ่งขึ้น นิยมใช้ตีสำหรับขบวนแห่ เช่น แห่เทียน แห่กันหลอน หรือแห่พระเวส เป็นต้น
กลองตุ้ม
เป็นกลองสองหน้าคล้ายกลองตะโพนในทางดนตรีไทยแต่ต่างจากตะโพนตรงที่
หน้าของกลองตุ้มทั้งสองข้างนั้น
มีขนาดเท่ากัน ส่วนใหญ่ใช้ตีกับกลองยาว สำหรับขบวนแห่ หรือขบวนฟ้อนในงานเทศกาลต่าง ๆ
กลองตึ้ง
เป็นกลองรำมะนาขนาดใหญ่ใช้บรรเลงในวงกลองยาวเวลาตีต้องใช้คน 2 คนหาม
และให้คนที่อยู่ข้างหลังเป็นคนตีไปด้วย
กลองกาบบั้ง
หรือกลองกาบเบื้อง มีลักษณะแบบเดียวกับกลองตึ้งแต่มีขนาดเล็กกว่า
เป็นกลองหน้าเดียวหรือเบื้องเดียว นิยมใช้ตีผสมวงกับกลองตุ้มและกลองยาว
เพื่อประกอบในขบวนแห่ และขบวนฟ้อนในงานเทศกาลต่าง ๆ
กลองหาง
เป็นกลองยาวชนิดหนึ่ง แต่มีรูปร่างเพรียวกว่าของภาคกลาง ที่เรียกกลองหางเพราะมีลำตัวยาวเหมือนหาง
ใช้ตีผสมกับกลองตุ้มและกลองกาบบั้ง ประกอบการฟ้อนหรือขบวนแห่งานบุญต่าง ๆ
เครื่องดนตรีประเภทประกอบจังหวะ
เครื่องดนตรีประกอบจังหวะมีความสำคัญมากเพราะดนตรีพื้นบ้านบ่งบอกถึงความหนักแน่น
ความรื่นเริง จึงต้องอาศัยเครื่องประกอบจังหวะเพื่อให้เสียงกระชับและดังจึงหาเครื่องประกอบจังหวะ
มาประกอบหลายชนิด ดังต่อไปนี้
1. เครื่องโลหะ เป็นเครื่องประกอบจังหวะที่ทำด้วยโลหะมีหลายชนิด คือ
1.1 ฉิ่ง ชาวบ้านเรียก สิ่งขนาดและรูปร่างคล้ายกับฉิ่งที่ใช้กันอยู่ทั่วไป
แต่บางกว่าฉิ่งมาตราฐานของไทย จึงมีเสียงต่ำและกังวาลน้อยกว่า
1.2 ฉาบกลาง ชาวบ้านเรียก สาบ มีขนาดใหญ่กว่าฉาบกรอเล็กน้อย
1.3 ฉาบใหญ่ ชาวบ้านเรียก แส่ง มีขนาดใหญ่ที่สุดในจำพวกฉาบด้วยกัน เนื่องจากขนาดของมันจึงทำให้มีน้ำหนักมาก ความคล่องตัวมีน้อย มักใช้ประกอบจังหวะกับวงกลองหลาย ๆ ใบ หรือกลองขนาดใหญ่เท่านั้น
1.4 ฆ้อง ลักษณะคล้ายกับฆ้องไทยทั่วไป
2. เครื่องไม้ หมายถึงเครื่องประกอบจังหวะที่ทำด้วยไม้ ทำให้เกิดเสียงด้วยการใช้ไม้กระทบกันเช่นเดียวกับกรับ ที่ชาวบ้านเรียกว่า หมากกับแก๊บ หรือก๊อบแก๊บ หรือกรับคู่ เป็นกรับพื้นเมืองอีสานที่ทำด้วยไม้ธรรมดา 2 ชิ้น หรือจักเป็นช่องฟันใช้ครูด หรือกรีดเป็นจังหวะ
3. เครื่องหนัง หมายถึง เครื่องจังหวะที่ขึงด้วยหนัง ได้แก่ กลอง รำมะนาพื้นเมือง เป็นกลองก้นเปิด ลักษณะคล้ายรำมะนาลำตัด ตัวกลองทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ขนาดใหญ่กว่ารำมะนาลำตัดเล็กน้อย แต่เนื้อไม้หนากว่าจึงทำให้มีน้ำหนักมากกว่า ใช้หนังขึงหน้าเดียว อีกหน้าเปิดโล่ง ขึงขอบหน้ากลองให้ตึงด้วยริ้วหนัง รำมะนามีระดับเสียงทุ้มต่ำ ใช้ประกอบวงกลองยาวเพื่อเน้นจังหวะหนักของกลองยาวให้แจ่มชัดและน่าฟังยิ่งขึ้น